Accessibility Tools

ศาลจังหวัดชุมพร
Chumphon Provincial Court
image

ศาลจังหวัดชุมพร

ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage

ประวัติศาลจังหวัดชุมพร
*******************

                     ตามประวัติเกี่ยวกับการบริหารปกครองสถาบันศาลยุติธรรม มีการบริหารปกครอง        โดยเป็นศาลมณฑลในภูมิภาคต่าง ๆ ศาลมณฑลชุมพรตั้งเมื่อ ร.ศ.116 (พ.ศ.๒๔๓๙) ประกอบด้วย      เมือง ๔ เมือง ได้แก่ เมืองชุมพร เมืองหลังสวน เมืองไชยา และเมืองกาญจนดิษฐ์ ต่อมาเมื่อปี ร.ศ.126         (พ.ศ.๒๔๔๙) ได้มีการย้ายศาลมณฑลชุมพร ไปตั้งที่บ้านดอน เมืองไชยา (สุราษฎร์ธานีปัจจุบัน)และเปลี่ยนชื่อเป็นศาลมณฑลสุราษฎร์ และที่เมืองชุมพรได้มีการตั้งเป็น ศาลเมืองชุมพร ขึ้น

                       จากการค้นคว้าหลักฐานหนังสือราชการที่ปรากฏ ประกอบคำบอกเล่าต่อกันมาของผู้เฒ่า                 ผู้แก่ในท้องถิ่น คงรวบรวมประวัติความเป็นมาของศาลจังหวัดชุมพรได้ว่า ระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๔               ถึง พ.ศ.๒๔๖๙ ศาลมณฑลชุมพรหรือศาลเมืองชุมพร ตั้งอยู่บริเวณบ้านพักผู้พิพากษาหัวหน้าศาล          (ถนนปรมินทรมรรคา ปัจจุบัน) สมัยนั้นเรียกว่า “ศาลเมืองชุมพร” สภาพเป็นโรงนาหลังคามุงจาก มิได้มีความมั่นคงของการก่อสร้างพอใช้ตัดสินคดีความคงเหมาะสมกับสภาพของเมืองในยุคสมัยนั้นจนกระทั่งปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙  ทางราชการได้รื้อศาลมณฑลนครไชยศรี ซึ่งตั้งอยู่จังหวัดนครปฐม ใช้ไม้มาปลูกเป็นที่ทำการศาลจังหวัดชุมพร ณ ที่ตั้งศาลจังหวัดชุมพร ถนนปรมินทรมรรคา เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง      ชั้นล่างไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ไม่เหมาะสม สวยงาม และไม่มีความสง่างามนัก เพราะไม้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นไม้เก่าจากศาลมณฑลนครไชยศรี เมื่อปลูกสร้างเป็นศาลแล้วทาสีใหม่ จะสวยงามพอสมควรสำหรับสมัยนั้น           ตามหลักฐานปรากฏว่าการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงรื้อศาลโรงนาหลังคาจาก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจาก “ศาลเมืองชุมพร” เป็น “ศาลจังหวัดชุมพร” ตามประกาศกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๕๙

 

                       เมื่อแรกเริ่มเปิดทำการใหม่ๆ มีห้องพิจารณา ๑ ห้อง เพราะสมัยนั้นมีผู้พิพากษาท่านเดียว ต่อมาจึงมีผู้พิพากษารองส่วนที่เรียกตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษานั้น เป็นยุคหลังเมื่อผู้คนมากขึ้น คดีความเพิ่มขึ้น จึงได้ขยายปรับปรุงจัดทำห้องพิจารณาใหม่อีก ๑ ห้อง โดยเอาเสมียนศาล    จ่าศาลและผู้พิพากษา ซึ่งรวมกันอยู่กั้นเข้าอีกทำชานข้างและบันไดลงอีกบันไดหนึ่ง เพื่อมิให้พลุกพล่าน รบกวนการทำงานของผู้พิพากษา ครั้นต่อมาบ้านเมืองขยายตัวต้องเพิ่มผู้พิพากษาเป็น ๔ ท่าน เพื่อให้เพียงพอแก่การพิจารณาความต้องจัดบริเวณทางเดินหลังบัลลังก์เป็นบัลลังก์เล็กขึ้นอีกใช้โต๊ะต่างบัลลังก์    จึงพอได้ลดความล่าช้าของการพิจารณาความได้ อาคารศาลจังหวัดชุมพรที่ได้ใช้ไม้มาจากอาคารศาลมณฑลนครไชยศรีในการก่อสร้าง เป็นที่ประจักษ์ของผู้พบเห็นหรือใช้สอย สถานที่นี้คับแคบไม่สะดวกแก่การปฏิบัติราชการผู้พิพากษาทั้ง ๔ ท่าน นั่งแออัดในห้องแคบ ๆ มีบัลลังก์บังคับไว้อีกด้านหนึ่ง เสมียนและจ่าศาล      นั่งรวมกันอยู่ติดกับห้องผู้พิพากษา อาคาร“ศาลจังหวัดชุมพร” ยุคแรก หลังจากเปลี่ยนชื่อมาจาก “ศาลเมืองชุมพร” นอกจากคับแคบไม่สะดวกแก่การปฏิบัติภารกิจแล้วยังมีความเก่ามากด้วย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙  ได้มีการก่อสร้างอาคารศาลจังหวัดชุมพรบริเวณที่ดินราชพัสดุ ถนนปรมินทรมรรคา ตำบลท่าตะเภา    อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เนื้อที่ ๔ ไร่  ๓๘ ตารางวา เป็นอาคารสองชั้นขนาด ๖ บัลลังก์ มีห้องพิจารณาคดี ๖ ห้อง ห้องพักผู้พิพากษาชั้นบน ๑ ห้อง ชั้นล่าง ๑ ห้อง ห้องทำงานธุรการ ๑ ห้อง บันไดขึ้นชั้นสองของอาคารมีเพียงบันไดกลาง ดังนั้น ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ ประชาชน ผู้ต้องขัง จึงต้องเดินปะปนกันทำให้ยากแก่การรักษาความปลอดภัย ประกอบกับศาลจังหวัดชุมพรมีปริมาณงานคดีเพิ่มขึ้น อาคารที่ทำการ      มีความคับแคบในการใช้สอย และให้บริการประชาชน ต่อมาสำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้จัดสรร             เงินงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดชุมพรหลังใหม่ 

เดิมศาลจังหวัดชุมพรตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ ถนนปรมินทรมรรคา ตำบลท่าตะเภา     อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เนื้อที่ ๔ ไร่ ๓๘ ตารางวา เป็นอาคาร ๒ ชั้น ขนาด ๖ บัลลังก์ มีห้องพิจารณาคดี ๖ ห้อง ห้องพักผู้พิพากษาชั้นบน ๑ ห้อง ชั้นล่าง ๑ ห้อง ห้องทำงานธุรการ ๑ ห้อง     เมื่อปริมาณคดีในเขตอำนาจพิจารณาของศาลจังหวัดชุมพรเพิ่มมากขึ้นจำเป็นต้องเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการตุลาการและข้าราชการศาลยุติธรรมและมีประชาชนมาติดต่อราชการมากขึ้น สำนักงาน ศาลยุติธรรมจึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ในปัจจุบัน และปัจจุบันอาคารหลังดังกล่าวเป็นอาคารที่ทำการของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชุมพร

                    อาคารศาลจังหวัดชุมพรหลังปัจจุบัน มีที่ทำการตั้งอยู่บริเวณศูนย์ราชการ         จังหวัดชุมพร หมู่ที่ 1  ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร โดยใช้ที่ดินราชพัสดุ หมายเลขทะเบียน ที่ ชพ.๖๐๕  เดิมเป็นที่ดินของ บริษัท เทพบันดาล จำกัด บริจาคให้แก่ทางราชการมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 160 ไร่ เพื่อสร้างเป็นศูนย์ราชการจังหวัดชุมพร ในการนี้จังหวัดชุมพรได้อนุญาตให้ศาลจังหวัดชุมพรใช้ที่ดินที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวจำนวนเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๗๓ ๔/๑๐ ตารางวา เพื่อก่อสร้างที่ทำการอาคารศาลจังหวัดชุมพรเป็นอาคารแบบสมัยใหม่ เป็นอาคาร 6 ชั้น ขนาด      ๑๔ บัลลังก์ มีความสง่างาม เหมาะสมเป็นสถาบันศาลยุติธรรมในการอำนวยความยุติธรรม            แก่ประชาชน ใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน ๒๐๘,๙๕๖,๐๐๐ บาท โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ และได้ย้ายที่ทำการมาเปิดทำการอาคารศาลใหม่ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๒                

        อาคารหลังเก่า ตั้งอยู่ถนนปรมินทรมรรคา                       อาคารศาลปัจจุบัน

   ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร        ตั้งอยู่ บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดชุมพร

อาคารบ้านพักข้าราชการ

                   ศาลจังหวัดชุมพรมีบ้านพักข้าราชการตุลาการทั้งหมด จำนวน 12 หลัง       ปัจจุบันข้าราชการตุลาการเข้าพักอาศัยได้เพียง 10 หลัง อีก 2 หลัง ชำรุดไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้ซึ่งศาลจังหวัดชุมพรได้ดำเนินการของบประมาณในการดำเนินการซ่อมแซมและ ขณะนี้ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 2 หลัง ในวงเงิน 982,000 บาท อยู่ระหว่างดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางและจัดทำกำหนดราคากลางก่อนการดำเนินการจัดจ้าง มีอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลยุติธรรมจำนวน ๒๓ หน่วย ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร และมีอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลยุติธรรม จำนวน 12 หน่วย ตั้งอยู่ ถนนจักรีประพาส ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร   จังหวัดชุมพร

เขตอำนาจของศาลจังหวัดชุมพร

                   ศาลจังหวัดชุมพร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญา ในเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่ใน ๓ อำเภอของจังหวัดชุมพร

1. อำเภอเมืองชุมพร ครอบคลุมพื้นที่เขตอำนาจสอบสวนดังนี้

  1. สภ.เมืองชุมพร
  2. สภ.ปากน้ำชุมพร
  3. สภ.บ้านวิสัยเหนือ

2. อำเภอท่าแซะ ครอบคลุมพื้นที่เขตอำนาจสอบสวน ดังนี้

  1. สภ.ท่าแซะ
  2. สภ.สลุย

3. อำเภอปะทิว ครอบคลุมพื้นที่เขตอำนาจสอบสวน ดังนี้

  1. สภ.ปะทิว
  2. สภ.มาบอำมฤต